เตรียมความพร้อมเป็นผู้สูงอายุคุณภาพ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ - SaiJai ข่าว

by SaiJai News
2 ปี ago
483 Views

ข้อมูลกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อ้างอิงข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563

ระบุว่าประเทศไทยมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) คิดเป็น 17.57% จากจำนวนประชากรทั้งหมด นั้นแสดงว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์การแบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ
  2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึง มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ
  3. ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึง มีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

ดูแลผู้สูงวัยด้วยความรักและความเอาใจใส่

ผู้สูงอายุถือเป็นประชากรกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้เป็นผุ้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีประกอบด้วย 3 ด้าน หลัก คือ

ด้านสุขภาพกาย ผู้สูงวัยส่วนใหญ่จะมีปัญหาสุขภาพและมีโรคเรื้อรังที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย   ได้แก่ โรคที่เกิดจากกระดูก กล้ามเนื้อ และข้อต่อ เช่น โรคข้อเสื่อมโดยเฉพาะข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อเท้า และโรคกระดูกพรุนที่นำไปสู่การเกิดภาวะกระดูกหักได้ กลุ่มโรคต่อไป คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อ หรือที่เรียกว่า Non – communicable disease เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ  ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนจะส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตันหรือแตก และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กลุ่มที่สาม คือ ภาวะขาดสารอาหาร

การดูแลรักษาสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ โดยการออกกำลังกายขยับเขยื้อนร่างกายอยู่เป็นประจำเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รับประทานอาหารที่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสด สะอาด และพักผ่อนให้เพียงพอ เหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานในการดูแลสุขภาพร่างกายที่คนทุกวัยควรยึดปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

ด้านสุขภาพจิต สาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ มาจากความเสื่อมของร่างกายและความเจ็บป่วยที่รุมเร้า การต้องพลัดพรากหรือต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไม่ว่าจะเป็นคู่ชีวิต เพื่อน หรือญาติสนิท หากผู้สูงอายุในครอบครัวของคุณ เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา หรือยาย มีอาการต่อไปนี้ อาจเป็นได้ว่าท่านกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต

  • รับประทานอาหารได้น้อยลง
  • มีความเครียด วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียว หงุดหงิด และขี้โมโหได้ง่าย
  • นอนไม่หลับ
  • บางรายที่มีปัญหาทางจิตอย่างรุนแรง อาจมีอาการสับสน เห็นภาพหลอน จำคนไม่ได้

ครอบครัวและคนรอบข้างสามารถส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีแก่ผู้สูงอายุ ด้วยการให้ความสำคัญ เคารพ และยกย่อง ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่าต่อครอบครัว และยังเป็นที่รักของทุกคน หาเวลาทำกิจกรรมด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารแบบพร้อมหน้าพร้อมตา การออกกำลังกายหรือการท่องเที่ยว ตัวผู้สูงอายุเองต้องเข้าใจและพยายามจัดการกับอารมณ์ของตนเอง ไม่ปล่อยให้ตัวเองจมดิ่งไปกับความทุกข์ การฝึกสมาธิและปฏิบัติศาสนกิจตามที่ตนศรัทธา ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี

 

ผู้ดูแลผู้สูงอายุพร้อมให้บริการได้ทั้งที่บ้านและที่โรงพยาบาล

ด้านสังคม การเปลี่ยนแปลงบทบาททางสังคม เช่น การออกจากงานด้วยวัยเกษียณ หรือถูกลดบทบาทจากผู้นำครอบครัวมาเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพิงครอบครัว การสื่อสารการคนรอบตัวกลายเป็นเรื่องลำบาก มีผลทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็นคนเก็บตัว อยู่แต่ในบ้าน หากครอบครัวไม่ให้ความสนใจและดูแลอย่างใกล้ชิด จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเป็นทุกข์ เหงา กังวล ในบางรายอาจร้ายแรงจนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าและทำร้ายตัวเองได้ ควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมทางสังคมกับคนวัยใกล้เคียงกัน จะทำให้ผู้สูงอายุปรับตัวและยอมรับตัวเองได้ง่ายขึ้น

กิจกรรมทางสังคมที่ควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำ ได้แก่

  • กิจกรรมการออกกำลังกาย อาจเป็นการรวมกลุ่มกันเดินออกกำลังกายในสวนสาธารณะ หรือการรำมวยจีน การได้ออกกำลังกายกับคนวัยเดียวกันจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลาย และยังได้เสริมความแข็งแรงได้อีกด้วย
  • กิจกรรมเผยแพร่ความรู้ ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาตามวัย ผู้สูงอายุถือเป็นบุคคลที่สามารถเป็นที่ปรึกษาและแบ่งปันความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ การได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่าและมีบทบาทสำคัญ
  • กิจกรรมการท่องเที่ยว ถือเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้สูงอายุได้เปิดหูเปิดได้ มีความผ่อนคลาย ที่สำคัญต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
  • กิจกรรมพัฒนาความรู้และทักษะ แนะนำการใช้เทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชั่น ที่สามารถช่วยอำนวยความสะดวก และทำให้ผู้สูงอายุคลายเหงาได้ เช่น Google LINE  Facebook ทำให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนตกยุค หรืออาจจะเป็นกิจกรรมงานประดิษฐ์ งานฝีมือ ที่สามารถทำเป็นงานอดิเรกและพัฒนาเป็นช่องทางหารายได้เสริมได้อีกทางหนึ่ง

แม้วัยชราจะเป็นวัยที่ร่างกายเสื่อมถอยแต่คนสูงอายุเหล่านั้นไม่ได้เป็นบุคคลที่ไร้ประโยชน์ หรือควรถูกมองว่าเป็นภาระ เพราะแท้จริงแล้วพวกท่านเป็นบุคคลที่มีคุณค่าและยังทำประโยชน์ให้กับครอบครัวและสังคมได้อย่างมากมาย ให้ SAIJAI ช่วยคุณค้นหาผู้ดูแลผู้สูงอายุที่พร้อมให้บริการด้วยประสบการณ์และความเอาใจใส่

ติดตามข่าวสารจาก SAIJAI